หน้าเว็บ

การนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิด


การนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิด (Reflective Coaching Supervision)
เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
โดย ดร.สกาวรัตน์ ไกรมาก ศึกษานิเทศก์ สพป.พะเยา เขต 2
 
การขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ การนิเทศนับเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือครูและผู้บริหารให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและให้ครูสามารถนำหลักสูตรไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนได้บรรลุตามมาตรฐาน/ตัวชี้วัด แต่การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการนิเทศของศึกษานิเทศก์ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน เช่น ผู้นิเทศไม่ได้รับการยอมรับและไว้วางใจเชื่อถือจากครู ครูต่อต้านการนิเทศ การขาดแคลนศึกษานิเทศก์ที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะสาขาวิชา ศึกษานิเทศก์มีจำนวนน้อยและไม่ครบกลุ่มสาระและช่วงชั้น นอกจากนี้ศึกษานิเทศก์ได้รับมอบหมายงานอื่นมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ การนิเทศการสอนจึงไม่ทั่วถึง (กระทรวงศึกษาธิการ, 2553 : 9) ดังนั้นรูปแบบการนิเทศที่นำมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบการนิเทศที่ทำให้ครูยอมรับ เกิดการพัฒนาการทำงาน พัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูและศึกษานิเทศก์ โดยศึกษานิเทศก์จึงต้องมีคุณลักษณะของความเป็น     พี่เลี้ยง (Mentor) ความเป็นกัลยาณมิตร (Critical Friend) และมีทักษะในการชี้แนะแบบสะท้อนคิด (Reflective Coaching) (กระทรวงศึกษาธิการ, 2553 : 67)
 

การนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิด (Reflective Coaching Supervision) เป็นนวัตกรรมการนิเทศแนวใหม่ที่นักวิชาการให้การยอมรับและนำมาเป็นเครื่องมือในการนิเทศ ช่วยให้ครูผู้สอนได้สะท้อนการจัดการเรียนการสอนของตนเองได้อย่างเป็นระบบ ช่วยให้ครูทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน และให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือในการทำงานระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศในฐานะที่เป็นหุ้นส่วน (partner) ในการทำงานร่วมกัน (กระทรวงศึกษาธิการ , 2553 : 112) ซึ่งเป็นการพัฒนาครูที่ไม่เร่งรัดแต่เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เน้นการใช้คำถามในการกระตุ้นให้คิด ผู้นิเทศมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนไม่ใช่ผู้ประเมิน เป็นการนิเทศที่ช่วยให้ผู้รับการนิเทศจัดการปัญหาในการทำงานโดยมุ่งความสนใจไปที่นักเรียนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่คาดหวัง และทำให้ผู้รับการนิเทศได้ค้นพบศักยภาพที่ดีในการทำงานด้วย
กระบวนการนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิด มีกระบวนการในการนิเทศหลากหลายรูปแบบ แต่จากการวิเคราะห์เอกสารและดำเนินการวิจัยจึงได้สรุปกระบวนการนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิดออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่

1. กิจกรรมในห้องเรียน (Lesson day) ผู้นิเทศศึกษาชั้นเรียนโดยการสังเกตการสอน และกำหนดประเด็นที่ได้จากการสังเกตและบันทึกข้อมูลเพื่อนำสู่การสะท้อนคิด
2. การสะท้อนคิด (Reflective) นำประเด็นที่ได้จากการบันทึกการสังเกตการณ์สอน และประเด็นที่เป็นข้อสงสัยแล้วใช้คำถามในการกระตุ้นตามลำดับขั้นตอนเพื่อให้ผู้รับการนิเทศเกิดการสะท้อนคิดในการเรียนการสอนของตนเอง โดยสะท้อนถึงจุดที่ตนเองต้องพัฒนาและเห็นถึงจุดที่ตนเองทำได้
3. การอภิปรายร่วมกัน (Debriefing) ทั้งสองฝ่ายเขียนบรรยายประเด็นที่ได้จากการสะท้อนคิด มาพูดคุย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางในการแก้ปัญหาและดำเนินการในครั้งต่อไป
4. ติดตามผลการพัฒนา (Follow up) ผู้นิเทศต้องติดตามผลจากการสะท้อนคิดและอภิปรายเพื่อหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้เห็นถึงการพัฒนาของผู้รับการนิเทศ
 
ทั้งนี้ผู้นิเทศต้องมี เทคนิค วิธีการในการนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนี้
1. ผู้นิเทศแนะนำตนเองสั้นๆ และสร้างบรรยากาศที่ไว้วางใจ เป็นกันเอง โดยใช้พฤติกรรม เชิงบวก และจับถูก แล้วต่อยอดความคิดและการกระทำในระหว่างการสนทนา
2. ขอให้ผู้รับการนิเทศแนะนำตนเอง และเล่าถึงสิ่งดีๆ ที่ได้คิด ได้ทำ และได้แก้ปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจนประสบความสำเร็จ รวมถึงการสะท้อนปัญหาที่ต้องการ แก้ไข หรือพัฒนาให้เกิดคุณภาพต่อไป
3. ผู้นิเทศหรือผู้โค้ชฟังอย่างตั้งใจ ทั้งสีหน้าและแววตาบ่งบอกถึงความชื่นชม และควรบันทึกประเด็นสำคัญไว้เพื่อทบทวน หากมีประเด็นสนทนาประจำหน่วยที่ยังไม่ชัดควร ใช้คำถามเพื่อให้เกิด ความชัดเจนมากขึ้น
4. ในขณะสนทนาเพื่อให้เกิดการสะท้อนคิดหรือโค้ชสามารถใช้คำพูดเสริมแรงเพื่อกระตุ้นให้ผู้เล่ามีกำลังใจและอยากเล่าต่อ และสร้างบรรยากาศให้เกิดการสนทนาอย่างต่อเนื่อง
5. ถ้ามีผู้รับการโค้ชคนอื่นๆ อยู่ในวงสนทนาด้วย ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกคนอื่นเติมเต็มก่อนที่โค้ชจะเติม
6. ถ้ามีประเด็นคำถามควรเปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มได้ลองคิดหาแนวทางแก้ปัญหาก่อนที่โค้ชจะตอบหรือให้ข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ทีม
          7. ไม่สั่ง ไม่สอน ไม่บอกคำตอบ ต้องใช้คำถามกระตุ้นให้ผู้ถูกนิเทศได้สะท้อนคิดด้วยตนเอง และหาแนวทางที่แก้ไขด้วยตนเอง หากนึกไม่ออก ผู้นิเทศต้องให้ข้อเสนอแนะแต่เป็นเพียงตัวอย่างไม่บอกทั้งหมด และกระตุ้นให้ครูได้คิดเอง
8. ความสม่ำเสมอ การนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิดต้องมีกำหนดการและตารางการปฏิบัติงานที่แน่นอน ทั้งผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ ความเชื่อถือ ในการทำงานร่วมกัน กระบวนการสะท้อนงานและความร่วมมืออาจไม่เกิดขึ้นถ้าปราศจากความสม่ำเสมอในการพบกัน
 
                ทั้งนี้ ผู้ที่ทำการนิเทศต้องมีคุณลักษณะของการเป็นผู้รู้เกี่ยวข้องกับเนื้อหา วิธีสอน มีบุคลิกความเป็นกัลยาณมิตร มีทักษะการฟัง พูดน้อยลง ฟังมากขึ้น ไม่สั่งการใด ๆ เปลี่ยนคำตอบเป็นคำถามมีพฤติกรรม       เชิงบวก  และเชื่อมโยงจุดที่จะต้องพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จูงใจและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาจึงจะช่วยให้การนิเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
          จากการนำเทคนิคการนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิดมาช่วยเหลือให้ครูเกิดการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ในระยะเวลา 3 ปีที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง มีการขยายผลการนิเทศจากการนิเทศโรงเรียนต้นแบบการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สู่โรงเรียนทั่วไป พบว่า การนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิดช่วยให้ครูเกิดการพัฒนาด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายได้ดีขึ้น ซึ่งยกตัวอย่างการพัฒนา ที่เป็นเชิงประจักษ์
 
ครูแววดาว ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนได้รับการนิเทศครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้การสอนได้ค่อนข้างดี แต่ยังมีจุดที่ยังคงต้องได้รับการพัฒนา ได้แก่ การจัดกิจกรรมยังบอกความรู้ให้นักเรียนมากกว่าการให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมและไม่มีการสอดแทรกการคิด การซักถามในห้องเรียนยังคงถามเป็นภาพรวม การใช้สื่อยังคงไม่เหมาะสมกับกิจกรรมและเนื้อหา ครูยังดูแลนักเรียนได้ไม่ทั่วถึง
 
หลังจากครูได้รับการนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิด ครูมีการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ดี ครูมีการพัฒนาโดยการนำข้อคิดที่ได้จากการสะท้อนคิดการทำงานของครูและศึกษานิเทศก์มาพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องทำให้เห็นถึงเส้นการพัฒนาที่ชัดเจน ดังนั้นในปีที่ 2 และปีที่ 3 ครูจะมีการเตรียมความพร้อมในการสอนได้ดี การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูเป็นไปตามแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีกิจกรรมความหลากหลาย ครูคิดและออกแบบการจัดกิจกรรมด้วยตนเอง มีทั้งเกม เพลง กิจกรรมกลุ่ม คู่ รายบุคคล การทำใบงาน ใช้สื่อ ICT ในการเรียนการสอนซึ่งนักเรียนในชั้นเรียนให้ความร่วมมือในการเรียน กิจกรรมของครูเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการที่นักเรียนได้เรียนรู้จากการคิด การลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง
การนำเข้าสู่บทเรียนของครูในแต่ละครั้งที่ทำการสังเกตการสอนจะมีความน่าสนใจแตกต่างกัน เช่น การนำเกมจับคู่รูปหัวใจให้นักเรียนจับคู่คำซ้อน เช่น แยกแยะ อ้อนวอน เร่ร่อน ซึ่งนักเรียนตามหาคู่ได้อย่างรวดเร็วและมีบรรยากาศที่ยิ้มแย้มครั้งที่ 2 ที่สังเกตครูเปิดสื่อ PowerPoint เรื่องจดหมายกิจธุระให้นักเรียนได้เรียนรู้ หรือการนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นบทนำในการนำเข้าสู่บทเรียนเพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการย่อความ เป็นต้น กิจกรรมการสรุปความรู้ครูได้ให้นักเรียนสรุปความรู้และนำเสนอความรู้ด้วยตนเองโดยครูทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกระตุ้น ครูมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้น่าสนใจและมีความสมบูรณ์แบบ โดยมีการนำเข้าสู่บทเรียน สอนหลักการจำแนกภาษาเขมร 7 ข้อ ซึ่งครูทำได้ดีมาก  นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดและหาวิธีการจำภาษาเขมรได้ กิจกรรมการสอนครั้งนี้ทำให้นักเรียนสามารถจำหลักการสังเกตคำภาษาเขมรได้อย่างแม่นยำ จากการทดสอบความรู้นักเรียนสามารถตอบได้และมีความสุขในการเรียนรู้ และสามารถบรรลุตามมาตรฐานและตัวชี้วัดที่ตั้งไว้อย่างดีเยี่ยม ครูมีการให้นักเรียนทำกิจกรรมกลุ่ม มีการประเมินผลและแจ้งผลคะแนนให้นักเรียนทราบ นักเรียนได้ทำกิจกรรมและลงมือปฏิบัติจริง เช่น การเขียนอักษรศิลาจารึก การเขียนลายสือไทย การทำงานกลุ่ม ได้เปรียบเทียบได้คิด แสดงให้เห็นว่าครูสามารถจัดการเรียนรู้ได้ดี
อีกตัวอย่างของครูที่ได้รับการนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิด ซึ่งครูเน้นการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
 
ครูดาวเด่น ก่อนการนิเทศ ครูมีหน่วยการเรียนรู้ แต่หน่วยการเรียนรู้ของครูยังคงต้องได้รับการพัฒนา เนื่องจากมีองค์ประกอบยังไม่ครบถ้วน รายละเอียดของหน่วยการเรียนรู้ต้องพัฒนา เช่น มาตรฐานและตัวชี้วัดยังไม่เป็นกลุ่มเดียวกัน ขาดสมรรถนะสำคัญ การเขียนสาระสำคัญยังไม่ถูกต้อง การเขียนยังไม่ร้อยรัดเป็นสาระสำคัญที่สละสลวย หลังจากที่ครูได้รับการนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิด ครูได้ปรับหน่วยการเรียนรู้จนมีความสมบูรณ์ มีองค์ประกอบครบตามแนวทางการออกแบบหน่วยแบบย้อนกลับ (Backward Design) มีเป้าหมายชัดเจน โดยมีมาตรฐาน ตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะสำคัญ สาระการเรียนรู้ สาระสำคัญ มีการวัดและประเมินผล มีการกำหนดภาระงานและชิ้นงาน มีเกณฑ์คุณภาพในการประเมินชิ้นงาน มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และมีการสอดแทรกเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนทำวิจัย โดยใช้หลัก 4 ขั้น คือ ขั้นตั้งคำถาม ขั้นเตรียมการค้นหาคำตอบ ขั้นดำเนินการค้นหาคำตอบ ขั้นสรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ มีสื่อที่หลากหลายในการเรียนรู้
 
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ก่อนการนิเทศยังคงต้องได้รับการพัฒนา เนื่องจากการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ถ้านักเรียนไม่แม่นในคำศัพท์ยากที่จะเข้าใจความหมายหรือสื่อสารได้ ครูจึงต้องหาสื่อมาช่วยกระตุ้น เช่น การนำภาพมาช่วยกระตุ้นให้นักเรียนตั้งคำถามอันนำไปสู่ตัวชี้วัดที่ตั้งเป้าหมายไว้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูมีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมกลุ่มและกิจกรรมรายบุคคล เทคนิคการจัดกิจกรรมบางอย่างไม่ได้ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ ทำให้ครูจะช่วยนักเรียน และช่วยสรุปความรู้ให้ หลังจากที่ครูได้รับการนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิด ครูได้พัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเอง โดยการรอคอยคำตอบนักเรียนและใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการตอบคำถามและทำกิจกรรมมากขึ้น กิจกรรมการเรียนรู้ของครูมีลำดับขั้นตอนเพื่อให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนรู้ให้บรรลุตามมาตรฐานและตัวชี้วัดที่ตั้งไว้
          ซึ่งการนิเทศแบบแบบชี้แนะสะท้อนคิดทำให้ครูผู้รับการนิเทศมีความพึงพอใจในการนิเทศเนื่องจากเป็นการนิเทศที่เป็นกัลยาณมิตรและเป็นการเข้ามาช่วยให้ครูเกิดการพัฒนางานของตนเอง ทำให้เห็นจุดที่ดีและจุดที่ต้องพัฒนาของตนเอง ดังข้อมูลสนับสนุนดังนี้
 
ลักษณะการนิเทศแบบนี้ดีทำให้ครูรู้สึกดี มาช่วยให้ครูคิดและสะท้อนงานตนเอง ไม่ได้เข้ามาติหรือว่ากล่าว น่าจะเป็นวิธีที่ดี (ครูแววดาว)
ดีถ้ามีคนมาช่วยดู ช่วยสะท้อนงานและทำให้เราเห็นจุดที่ตนเองพัฒนาน่าจะทำให้งานดีขึ้น(ครูมีแวว)
“การนิเทศแบบนี้ทำให้เห็นจุดบกพร่อง และมีคนมาช่วยสะท้อนคิด และเราเองก็ได้เห็นจุดบกพร่องของตนเอง และได้หาวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมกับตนเอง เป็นการนิเทศที่มาช่วยครูจริงๆ ไม่ได้เข้ามาบอก มากล่าว หรือมาขอข้อมูลแล้วก็ไปเหมือนที่ผ่านๆ มา” (ครูแจ่มจันทร์)
          ผู้นิเทศจึงเห็นว่าการนิเทศโดยกระบวนการชี้แนะสะท้อนคิดเป็นเทคนิคการนิเทศแนวใหม่ที่ทำให้ครูให้ความสำคัญกับการนิเทศของศึกษานิเทศก์เพิ่มขึ้น ยอมรับการนิเทศและพึงพอใจการนิเทศ และสิ่งสำคัญที่เป็นผลกระทบตามมาหลังจากที่ครูได้รับการนิเทศได้แก่ การพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้เรียนได้เรียนรู้กับครูที่มีการเตรียมความพร้อม มีแผนการเรียนรู้ และมีเป้าหมายในการจัดการเรียนรู้ส่งผลให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนรู้และพึงพอใจการจัดการเรียนรู้ของครู ท้ายที่สุดนี้จึงขอนำเสนอกระบวนการนิเทศแบบชี้แนะสะท้อนคิดให้กับศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูวิชาการได้นำกระบวนการดังกล่าวไปใช้ในการนิเทศเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนของประเทศต่อไป

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น